ชีวิตทั้งชีวิตของ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง นับได้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนกระทั่งถึงวัยเกษียณก็ยังทรงต่ออายุราชการให้ปฏิบัติงานเรื่อยมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ดั่งที่นายแก้วขวัญได้กล่าวไว้ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ตอนหนึ่งว่า
“ตอนนี้อายุมากแล้ว พระองค์ก็ยังทรงใช้งานอยู่ แสดงว่าทรงวางพระราชหฤทัยในตัวเรา คิดแบบนี้ก็ไม่เหนื่อย และขอทำงานด้วยด้วยความจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดต่อไป”
ตลอดทั้งชีวิตที่ได้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน นายแก้วขวัญได้ยึดหลักการดำเนินชีวิตและหลักการทำงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งสอน ซึ่งได้บรรยายในการอบรมข้าราชการแห่งหนึ่ง โดยได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ท่านเลขาธิการพระราชวัง คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย ดังนี้
ข้อแรก. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ทำอะไรต้องมีสติ” นึกอยู่จนกระทั่งพ.ศ.2509 ไปบวชเรียน สมเด็จพระสังฆราชท่านก็สอน “ความมีสติคือการระลึกได้ในสิ่งที่คิด ในกิจที่ทำในคำที่พูด” ตรงนี้เอง ทีแรกนึกว่า เราบ๊องๆ ก็มามีกำลังใจขึ้นว่านี่ของจริง ถ้าเราระลึกได้ในสิ่งที่คิด ในกิจที่ทำ ในคำที่พูด เราจะไม่ทำผิด ไม่คิดผิด ไม่พูดผิด
ข้อ 2. ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ความฝันอันสูงสุด” ตอนนั้นพูดกันเสมอว่า “จะแก้ไขในสิ่งผิด” ทุกคนถ้าโตทันในตอนนั้น จะพูดกันบ่อยๆ ว่า จะแก้ไขในสิ่งผิด “เคยมีพระราชกระแสสอนว่า ถ้าทำอะไรไปแล้วผิด ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้องด้วยความสุจริต ซื่อสัตย์ ซื่อตรงและมีความยุติธรรมด้วย” นอกจากในเรื่องนี้ ถ้าพบว่า มีการทุจริตที่ไหนหรืออาจจะทำให้เกิดการทุจริตได้ เราก็ต้องป้องกัน ต้องหาวิธีแก้ไม่ให้เกิดขึ้น ทรงกำชับหลายอย่าง อะไรไม่ถูกต้องต้องพยายามแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องตลอดมาจนทุกวันนี้
ข้อ 3. การทำงานต้องเสียสละ ต้องมีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่รับสั่ง โดยไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบาก เพราะเมื่อก่อนตอนเรียนเกษตรหนักกว่านี้ตั้งเยอะ ผมมาทำงานในตำแหน่งที่มีเกียรติ งานหนักแค่ไหน เราก็ไม่ถอย
ข้อ 4. อีกข้อหนึ่งซึ่งแปลกอยู่เหมือนกัน ตอนที่ผมเป็นช่างภาพอยู่ รับสั่งว่า “ทำอะไรจะสำเร็จต้องมีความยืดหยุ่น” ทำไมจะให้สำเร็จต้องมีความยืดหยุ่น ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ จนกระทั่งไปเรียนบริหารที่อเมริกา ผมนึกทำไมพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาขนาดนั้น แท้ที่จริงก็เป็นหลักการหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
ข้อ 5. ท่านคงจำได้เดี๋ยวนี้ก็ยังมี การพูดถึงเรื่องการสร้างพระจิตรลดา ผู้ใดได้รับพระราชทานไปจะต้อง “ปิดทองหลังพระ”ความหมายของการปิดทองหลังพระ ติดอยู่ในความทรงจำตลอดมาว่า “ทำอะไรไม่จำเป็นต้องโฆษณา” ผมเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ทำอะไรท่านลงบัญชีไว้ทั้งนั้น ทำดีก็จด ทำไม่ดีก็จด สองฝั่งนี้ตราบใดที่ท่านมีความดีเป็นกรอบคล้ายบารอมิเตอร์ ถ้าความดีสูงกว่าเราก็ยังปกติอยู่ ตอนไหนที่เราทำชั่วมากๆ บารอมิเตอร์ข้างทำชั่วขึ้นมาสูง แสดงว่าตอนนั้นเรากำลังจะตกต่ำ ทำความดีเราก็ไม่ต้องไปโฆษณาว่าเราทำอะไร ยังไงความดีก็กลับมาตอบแทนในชาตินี้ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ถ้าไม่ได้รับผลเป็นเงิน เป็นทอง เป็นสิ่งของ เราก็ได้ผลทางร่างกายนะครับ ท่านจะมีสุขภาพดีไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่มีโรคร้ายมาเบียดเบียน
ข้อ 6. เมื่อกราบบังคมทูลถวายรานงานเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องการเงิน ว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ จะกราบบังคมทูลเฉพาะจำนวนที่มีหน่วยที่เป็นบาท ขอพระราชทานไม่กราบบังคมทูลส่วนที่เป็นสตางค์ ขอเป็นตัวเลขกลม “พระองค์รับสั่งว่าตัวเลขสตางค์นั่นแหละสำคัญ” ตอนนั้นผมยังไม่ไปเรียนบริหาร เมื่อไปเรียนก็ทูลถามท่านว่าโปรดให้ไปเรียนบริหารอะไรบ้าง ผมขอท่านว่า ไม่อยากเรียนบริหารการเงิน พระองค์ท่านรับสั่งว่า “บริหารการเงิน นั่นแหละสำคัญ” พอไปถึงอเมริกา รีบสมัครเรียนบริหารการเงินก่อนเลย แล้วได้นำมาปรับปรุงพัฒนา ได้เปลี่ยนระบบบริหารการเงินทั้งหมดเป็นสมัยใหม่ โดยแบ่งงานออกเป็น 3 หน่วย เบิกหน่วยหนึ่ง จ่ายหน่วยหนึ่ง ทำบัญชีอีกหน่วยหนึ่งญาติพี่น้องกันของเจ้าหน้าที่การเงินจับแยกกันหมด เล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริเกิดขึ้นจากที่รับสั่งว่า “สตางค์นั่นแหละสำคัญ”
ข้อ 7. ทรงสอนให้รู้จักประมาณตน เพราะคนเราแต่ละคนย่อมมีความสามารถแตกต่างกัน สูงต่ำไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อจะทำสิ่งใดต้องรู้จักประมาณตน โดยรู้ว่าตนมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหนเพียงใด ควรทำงานด้านไหนอย่างไร และยังรับสั่งอีกว่า เมื่อรู้จักประมาณตนแล้ว จะทำให้คนขวนขวายศึกษาหาความรู้ ตวามสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสม และได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้สูงขึ้น จะได้ประสบความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าได้ดีกว่าคนอื่น ปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนให้สูงขึ้น
ข้อ 8. มีอีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจมากเมื่อพระองค์พระราชทานพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 ความว่า ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็นทำให้ทรงนึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่งก็คือ “ไมตรี”ความมีเมตตาหวังดีในกันและกัน คนที่มีไมตรีต่อกัน จะคิดตรงแต่ในทางที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผลเจรจากันด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน จะทำอะไรก็ช่วยเหลือร่วมมือกันด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ทรงขอให้ทุกคนพิจารณาทบทวนให้ตระหนักแก่ใจว่า ในกาย ในใจของเรา และเรายังมีคุณธรรมข้อนี้อยู่ก็สามารถที่จะรักษาประเทศชาติและความเป็นไทยของเราไว้ได้อย่างยืนยาวตลอดไป
ข้อ 9. ในส่วนตัวผมที่จำแม่นๆ เหมือนกับเป็นหลักบริหารที่วิเศษที่สุดไม่มีอาจารย์ที่ไหนสอน มีแต่พระองค์ท่านสอน คือว่า “ถ้าจะทำอะไรครั้งที่หนึ่งไม่สำเร็จ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ให้ทำครั้งที่สองและครั้งที่สาม” เพราะมีทุติยัมปิและตติยัมปิอันนี้ติดอยู่ในหัวใจของเรา เพราะฉะนั้นจะพูดอะไร จะทำอะไร จะคิดอะไร ให้ทำสามครั้ง ถ้าทำสามครั้งแล้วไม่สำเร็จก็คือไม่สำเร็จ แต่ถ้าครั้งแรกไม่สำเร็จต้องครั้งที่สองอีก บางทีเราลืม ไม่สำเร็จครั้งแรกก็โกรธเหลือเกิน แล้วก็เลยไม่ทำต่อ
ข้อ 10. ในเรื่องส่วนตัว เคยรับสั่งถามว่า ขณะนี้ยังรับประทานเนื้อสัตว์อีกหรือเปล่า ได้ทรงแนะนำว่า อายุมากแล้ว ควรหยุดรับประทานเนื้อ รับประทานปลาแทนจะดีกว่า นับว่าทรงพระมหากรุณาอย่างมาก ที่ทรงเป็นห่วงสุขภาพอนามัยข้าราชบริพาร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น