๑. ผู้ใดเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใหญ่ อย่าเป็นคนหูเบา แต่ก็มิใช่เป็นคนหูหนวกตาบอด ต้องฟังต้องดูอย่างกว้างที่สุด อยู่เสมอ แต่อย่าเชื่อคนสอพลอ หรือเชื่อคนพูดก่อนและฟ้องก่อน เพราะคนพูดภายหลังอาจพูดจริงกว่าคนที่พูดก่อนก็เป็นได้
๒. เมื่อมีความขุ่นข้องกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อย เมื่อได้ว่ากล่าวลงโทษ หรือตักเตือนแล้ว จงอย่าจำเอาไว้ อาฆาตมาดร้ายภายหลังอีก
๓. ให้พยายามหาความดีความงามมาสู่คณะ และปูนบำเหน็จกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้น้อย สำหรับผู้ที่สมควรจะได้รับตามโอกาสที่จักพึงหาได้นั้นอยู่เสมอ
๔. จงติโทษหรือลงโทษผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาในขณะที่ทำผิด โดยไม่เกรงใจหรือกลัวเขาเกลียด ให้เคร่งครัดอยู่เสมอ จะละเลยเสียมิได้เป็นอันขาด เพราะภายหลังจะกำเริบและแก้ไขยาก
๕. จงอย่าใช้อำนาจราชการลงโทษกับผู้ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาในขณะเมื่อตนบันดาลโทสะ และอย่ากล่าวคำหยาบ ให้กระทบกระเทือนถึงวงศ์ตระกูล เพราะผู้อื่นเขาก็มีจิตใจเป็นมนุษย์เหมือนเราเหมือนกัน
๖. จงบำรุงการสมาคม และแสดงกิริยา วาจา ใจ ให้เป็นการโอภาปราศรัย โอบอ้อมอารี จงทั่วหน้า อย่าเลือกที่รัก มักที่ชัง ถือเป็นพวกเขาพวกเรา ต้องแสดงตัวว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อยอยู่เสมอ
๗. บรรดาผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ ไม่ควรเอาบุตร ภรรยา ญาติมิตรของตน มายุ่งเกี่ยวข้องด้วยหน้าที่การราชการ หรือ เอางานอำนาจราชการไปใช้ในทางส่วนตัว อำนาจราชการจะเสื่อมและเสียชื่อเสียงของตนเอง ทั้งเป็นตัวอย่างอันชั่วร้ายด้วย
๘. บรรดาผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ ไม่ควรเอาประโยชน์ราชการมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว และเอาอำนาจราชการไปทำประโยชน์ส่วนตัว หรือเอาเวลาทำราชการไปทำกิจส่วนตัว คืออย่าทำยุ่ง ซึ่งอย่างที่เรียกว่า “เลี้ยงช้างก็กินขี้ช้าง”
๙. ในเวลาบังคับบัญชาการงาน อย่าได้เห็นแก่หน้าบุคคลและญาติมิตร และเห็นแก่สินจ้างสินบนเป็นอันขาด ความตรงความจริงอย่างไร ต้องกระทำไปดังนั้น ความจริงเป็นของไม่ตาย และมีค่าเป็นอันมาก การพูดเท็จต้องเตรียมตัว พูดจริงจะพูดเมื่อใด ก็ได้เป็นคำไม่ตาย และมีค่ามาก การพูดเท็จต้องเตรียมตัว พูดจริงจะพูดเมื่อใดก็ได้ เป็นคำไม่ตายแท้
๑๐. จงทำตัวอย่างอันดีให้ผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเห็น เช่น มีความซื่อสัตย์ (ไม่โกง) ความกตัญญูกตเวที ความกล้าหาญ ความพากเพียรพยายาม ความละเอียดลออรอบคอบ ความละอายต่อความผิด ตลอดทั้งความประพฤติอันดี ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการสั่งสอนดีที่สุดกว่าที่จะสอนแต่ปาก แต่ตนเองไม่ทำ แต่การที่จะสอนตนเองให้รู้จักทำทำตัวอย่างอันดีดังว่ามานี้ก็คือ ใจตนเอง ผู้อื่นจะสอนให้ดีกว่าใจของตนเองนั้นไม่ได้
๑๑. อย่านึกว่าตนมีหน้าที่ (เป็นนาย) กดขี่บังคับบัญชาแต่อย่างเดียว ต้องนึกว่าตนมีหน้าที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ และต้องสอดส่องให้รู้สุขรู้ทุกข์ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อยอยู่เสมอ และอย่าชิงหลีกเลี่ยงหาความสุขส่วนตัว เช่น ในเวลานำทหาร ไปทำการกรากแดดกรำฝน บุกน้ำลงโคลนหรือฝ่าอันตรายทั้งปวง อย่าหาโอกาสหลีกเลี่ยงแต่ส่วนตัว ผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะขาดความนับถือ
๑๒. ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับทหาร ถ้าเห็นทหารอดหลับอดนอน เหน็ดเหนื่อยหรือ ขาดเสบียง หรือประกอบอาหารยังไม่ทันสุก หรือมีกิจซึ่งจะทำการอย่างอื่นเสียก่อนจึงจะนอนพักผ่อน หรือบริโภคอาหารได้ ตนเป็นนายอย่าหาโอกาสพักผ่อน หรือบริโภคอาหารเสียก่อน ต้องดูแลผู้น้อย และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ทั้งสัตว์ ยานพาหนะ ให้นอนพักผ่อนหรือบริโภคอาหารเสียก่อนตน หรือนอนพักผ่อน และบริโภคอาหารพร้อมกัน
จึงจะกระทำให้ผู้น้อย และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเชื่อถือ และเห็นอกเห็นใจ
……..,…
จอมพล
(เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต)
เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
๑๔ มกราคม ๒๔๖๓
……………
Cr. Facebook/เรารักทหารไทย
- See more at: http://www.weloverta.org/site/?p=6084#sthash.fAxAxdi2.dpuf
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น