ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี


นายกฯ เห็นชอบตั้ง 3 คณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และ ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ด้านสำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ตราสัญลักษณ์งานฯ 
ตราสัญลักษณ์นายหลวง41_1
วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ ดังนี้ 1. คณะกรรมการฝ่ายพิธีการเฉลิมพระเกียรติฯ มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ยุทธศาสตร์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และภาพลักษณ์ของประเทศ สำหรับชื่อการจัดงาน กำหนดเขตการจัดงาน และตราสัญลักษณ์การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ที่สำนักราชเลขาธิการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ในโอกาสนี้จึงขอความร่วมมือจากส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมประดับธงตราสัญลักษณ์ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2560 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศาสนพิธี และรัฐพิธี โครงการบรรพชาอุปสมบท 770 รูป เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. – 12 มิ.ย. 2559 พิธีถวายพระพรและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 9 มิ.ย. 2559 พร้อมกันทั่วประเทศ ประกอบด้วย พิธีตักบาตรสมเด็จพระราชาคณะ/พระราชาคณะ และพระสงฆ์ในโครงการ 770 รูป ในเวลา 07.00 น. และเวลา 09.09 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีสวดถวายพระพรโดยผู้นำศาสนาทุกศาสนา พิธีเจริญจิตภาวนา และถวายพระพรในภาคประชาชนชาวไทยทั่วโลก
พล.ต.อ.เอกกล่าวต่อว่า กิจกรรมการจัดสร้างถาวรวัตถุน้อมเกล้าฯถวาย ประกอบด้วย การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2559 โครงการ “ปลูกไทย…ในแบบพ่อ” เพื่อปลูกจิตสำนึกและปูรากฐานให้เยาวชนมีความจงรักภักดี ความกตัญญู และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ น้อมนำแนวทางที่ทรงสอน ไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต สร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติอย่างยั่งยืน ได้แก่ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสัญจร “บัวบาทยาตรา” 5 ภาคของประเทศไทย เพื่อเผยแพร่การทรงงานในด้านต่างๆ ใน 7 ทศวรรษ และผลแห่งความสุขของประชาชน โดยน้อมนำพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท เป็นแนวคิดหลักในการนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ โดยภาคกลาง มีพิธีเปิดงาน ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในเดือน ก.ค. 59 ภาคใต้จัดที่ จ.สงขลา ภาคตะวันออกจัดที่ จ.ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ จ.สกลนคร และภาคเหนือจัดที่ จ.เชียงใหม่ การจัดทำภาพยนตร์สั้น “ค่าของแผ่นดิน Pride and Dignity of Thais” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตั้งมั่นในคุณความดี 7 ประการ คือ ความมีน้ำใจ ความเสียสละกล้าหาญ ความเพียร ความอดทน ความรักความสามัคคี ความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ จากชีวิตจริงของบุคคลต้นแบบผ่านภาพยนตร์หลายสาขาอาชีพ กำหนดฉายตอนแรกในเดือน พ.ย. 2559 ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ละครเวที “เสียงแห่งความจงรักภักดี Sounds of Love” เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ได้ศึกษาค้นคว้า และเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจากมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ในวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2559 ณ โรงละครสนามเสือป่า สำนักพระราชวัง กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โครงการเยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท ของเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศละ 7 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน มาศึกษา เรียนรู้ ดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศไทย โดยมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ในเดือน ต.ค. 2559
พล.ต.อ.เอกกล่าวอีกว่า 2. คณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการ บูรณาการงานในภารกิจด้านการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงต่างๆ ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชน โดยมีหน้าที่กำหนดแนวทางการจัดกิจกรรม พิจารณาอนุมัติเป็นโครงการ กลั่นกรองการใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับโครงการ นำเสนอคณะกรรมการอำนวยการ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยจัดทำโครงการ กิจกรรม ตลอดจนกำกับดูแล และบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ และคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีแนวทางการจัดกิจกรรม คือ “พอเพียง สมพระเกียรติ สร้างความจงรักภักดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” โดยมีโครงการที่เห็นสมควรเป็นโครงการ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ โครงการรามายณะอาเซียน โดย กระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โครงการใต้ร่วมพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน โครงการ : 70 เส้นทางตามรอยพระบาท โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ : 84 Perspectives : Thailand through Women’s Eyes โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ชุดจากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า 3. คณะกรรมการบูรณาการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายของรัฐบาล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการบูรณาการการดำเนินงานด้านการขุดลอกคูคลองของกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาด ไทย และกระทรวงอื่นๆ ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชน โดยได้นำกิจกรรมขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ ตามมติ ครม.มาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และอย่างสมพระเกียรติ โดยได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาดำเนินการในรูปแบบประชารัฐให้เกิดความยั่งยืน มอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ กำหนดการจัดกิจกรรมในห้วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นห้วงเวลาการเฉลิมฉลองครองราชย์ ๗๐ ปี
กำหนดพิธีเปิดกิจกรรมพร้อมกัน 4 พื้นที่ ดังนี้ พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 อ.วังพญา จ.ยะลา สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้ง 4 พื้นที่ ได้แก่ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติโดยนำโครงการพระราชดำริฯ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ การปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น มานำเสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคอดีต การแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ยุคการต่อสู้กับปัญหาความยากจน และยุคปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาประเทศสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ซึ่งได้นำแนวทางการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และอื่น ๆ รวมทั้งป้องกันการเกิดภัยพิบัติ ทั้งในเรื่อง อุทกภัย และภัยแล้ง เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในพระอัจฉิยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การปล่อยปลาในพื้นที่โครงการ การตรวจและรักษาพยาบาลประชาชนในพื้นที่ การจำหน่วยสินค้าราคาถูก บริการตัดผม รวมทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรี หรือให้ความรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม โอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมใจกันร่วมกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน
ด้านสำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ แบบที่ 2 ที่ใช้สำหรับงานดังกล่าว โดยรูปแบบอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพขอบริมอักษรสีทองบนพื้นสีขาบเข้ม (น้ำเงินแก่) เป็นสีประจำสถาบันพระกษัตริย์ภายในกรอบลายทอง ปนนากมีลายเนื่องสีทองมากกว่า 70 ดวง เป็นการถวายพระพรให้ทรงสถิตดำรงในสิริราชสมบัติมากกว่าที่ 70 ให้สถาพรโดยสวัสดีเป็นอเนกอนันต์ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.และกรอบลายทองปนนากนี้สถิตอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบอุณาโลมสีทอง แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้จามรีอยู่เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขามอยู่เบื้องขวา มีฉลองพระบาททอดอยู่ที่ปลายพระแสง และธารพระกรนั้นเบื้องล่างรวมเรียกกว่าเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นนิมิตหมายแห่งการฉลองสิริราชสมบัติล่างลงมาเป็นแพรแถบสีหงขาด (ชมพู) ขลิบทอง เขียนอักษรสีทองความว่าฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ปลายแพรแถบด้านซ้ายระบุ พ.ศ. 2489 อันเป็นปีที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปลายแพรแถบด้านขวาระบุ พ.ศ. 2559 แสดงกาลเวลาที่ล่วงมา 70 ปี ตราบจนปัจจุบัน

เครดิต: www.manager.co.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ที่มาของคำว่า เสียหมา

  มีเรื่องเล่าที่อยากมาแชร์ แต่ไม่การันตีว่าจริงแท้แค่ไหนนะเออ.... ที่มาของคำว่า .....เสียหมา.... ** "เสียหมา"** แล้ว "เสียหมา" ทำไม? จึงหมายถึง "เสียฟอร์ม - เสียท่า" "เสียหมา" เกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนามเมื่อประมาณ 30 - 40 ปีก่อน ตอนนั้นยังมี เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ สหรัฐอเมริกาหนุนเวียดนามใต้ สู้กับเวียดนามเหนือ หรือพวก "เวียดกง" "เวียดกง" เป็นเจ้าของกลยุทธ์ การสู้รบแบบ "กองโจร" "เอ็งมา ข้ามุด เอ็งหยุด ข้าแหย่ เอ็งแย่ ข้าตาม" ไม่สู้แบบปะทะตรงๆ เพราะสู้กับกองทัพสหรัฐอเมริกาไม่ได้ เขาจึงใช้กลยุทธ์ "กองโจร" ใช้วิธีซุ่มโจมตีแทน ที่เด็ดมาก และแสดงถึงความมานะอดทนของ "เวียดกง" ก็คือ การขุดอุโมงค์ใต้ดิน ต่อเชื่อมกันเป็นระยะทางไกลๆ โผล่ขึ้นมาถล่มทหารสหรัฐ แล้วก็มุดเข้าอุโมงค์หนีไป วันหนึ่ง กองทัพสหรัฐคิดวิธีใหม่ในการค้นหาอุโมงค์ของ "เวียดกง" ได้สำเร็จเขาใช้สุนัขทหารที่ดมกลิ่นเก่งมากๆ เป็นตัวนำทาง ทหารสหรัฐจะส่งสุนัขล่วงหน้าไป พอเจออุโมงค์ที่ไหน มันก็จะเห่าบอ

สด.8 คืออะไร

สด. 8           ใบ สด.8 คือ สมุดประจำตัวของทหารกองหนุนที่ผ่านการเป็นทหารกองประจำการแล้วรวมทั้งผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปี 3(รด) เป็นหนังสือสำคัญ ที่ติดมาพร้อมกับ สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ สด.8 จะอยู่ในสมุดประจำตัวทหารกองหนุน พร้อมหนังสือสำคัญ(แบบ สด.8) หน้ากลางเล่ม เวลาใช้งานให้ถ่ายเอกสารหน้ากลางตรงส่วนที่ระบุว่า สด.8 ทั้งสองส่วน ซึ่งจะได้รับ สด. 8 เมื่อ รับราชการทหารกองประจำการ (คือ เป็นทหารเกณฑ์ ) จนครบกำหนดปลด        เรียน รด. จบปี 3 (เพราะ จบ รด. ไม่ต้องไป เกณฑ์ทหาร และไม่ต้องเป็นทหารกองประจำการ )        เมื่อจบ รด.ปี 3 จะได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ นำปลด เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1       ในวันเดียวกัน โดยไม่ต้องไปรับราชการในกองประจำการ ( ไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์นั่นเอง )        แต่ ยังคงเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 การนับอายุของทหาร        การนับอายุจะนับที่ปี พ.ศ. โดยเกิด 1 มกราคม ไปจนถึง เกิด 31 ธันวาคม ของปี ใดก็ตาม ถือว่า อายุ เท่ากัน ทั้งปี และ เริ่มนับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม เป็น อายุ ครบ ปี บริบูรณ์       ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แบ่ง

…..จอมพลสอนทหาร ………..

             ๑. ผู้ใดเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใหญ่ อย่าเป็นคนหูเบา แต่ก็มิใช่เป็นคนหูหนวกตาบอด ต้องฟังต้องดูอย่างกว้างที่สุด อยู่เสมอ แต่อย่าเชื่อคนสอพลอ หรือเชื่อคนพูดก่อนและฟ้องก่อน เพราะคนพูดภายหลังอาจพูดจริงกว่าคนที่พูดก่อนก็เป็นได้             ๒. เมื่อมีความขุ่นข้องกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อย เมื่อได้ว่ากล่าวลงโทษ หรือตักเตือนแล้ว จงอย่าจำเอาไว้ อาฆาตมาดร้ายภายหลังอีก             ๓. ให้พยายามหาความดีความงามมาสู่คณะ และปูนบำเหน็จกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้น้อย สำหรับผู้ที่สมควรจะได้รับตามโอกาสที่จักพึงหาได้นั้นอยู่เสมอ             ๔. จงติโทษหรือลงโทษผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาในขณะที่ทำผิด โดยไม่เกรงใจหรือกลัวเขาเกลียด ให้เคร่งครัดอยู่เสมอ จะละเลยเสียมิได้เป็นอันขาด เพราะภายหลังจะกำเริบและแก้ไขยาก             ๕. จงอย่าใช้อำนาจราชการลงโทษกับผู้ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาในขณะเมื่อตนบันดาลโทสะ และอย่ากล่าวคำหยาบ ให้กระทบกระเทือนถึงวงศ์ตระกูล เพราะผู้อื่นเขาก็มีจิตใจเป็นมนุษย์เหมือนเราเหมือนกัน             ๖. จงบำรุงการสมาคม และแสดงกิริยา วาจา ใจ ให้เป็นการโอภ