พิธีเปิดการฝึกร่วมระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหารกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและ การบรรเทาภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ ๕ ก.ย.๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกร่วมระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหารกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและ
การบรรเทาภัยพิบัติ (ADMM-Plus Military Medicine-Humanitarian Assistance and Disaster Relief Joint Exercise 2016 : AM-HEx 2016)
โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม
โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยเอกอัครราชทูต ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกฯ
ณ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี
กระทรวงกลาโหมไทย กระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย กระทรวงป้องกันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกร่วมฯ
ครั้งนี้ ระหว่างวันที่ ๑ - ๑๑ ก.ย.๒๕๕๙ โดยถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความร่วมมือทางทหารภายใต้กลไกการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus ที่มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีความภาคภูมิใจที่มีส่วนในการขับเคลื่อนกลไกดังกล่าวอันนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคนี้
การฝึกร่วมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล ทักษะความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่แพทย์ทหารของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของหน่วยทหารในภูมิภาคในการปฏิบัติการร่วมด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
กิจกรรมการฝึกที่สำคัญ ประกอบด้วย การฝึกประกอบกำลัง (Force Integration Training : FIT) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคการใช้เครื่องมือ และการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างชุดปฏิบัติการของแต่ละประเทศ การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) เพื่อทดสอบกลไกการทำงานของ
ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และศูนย์ประสานงานนานาชาติ การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) เป็นการฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ต่างๆ และโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ (Humanitarian Civic Action : HCA) เพื่อพัฒนาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่
พื้นที่การฝึกได้กำหนดขึ้น ณ จังหวัดชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ พื้นที่มณฑลทหารบกที่ ๑๔ ประกอบด้วย สถานีสารเคมีรั่วไหล สถานีอาคารถล่ม สถานีพื้นที่ถูกตัดขาด และสถานีตั้งค่ายผู้ประสบภัย
พื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ประกอบด้วย สถานีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยาน และพื้นที่เกาะสีชัง ประกอบด้วย สถานีการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล สำหรับการฝึกปัญหาที่บังคับการของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนจะใช้พื้นที่จริง ณ กรมแพทย์ทหารบก กรุงเทพฯ
กำลังพล และยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย กำลังทหารจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ประมาณ ๒,๐๐๐ นาย โดยมียุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการฝึก เช่น อากาศยาน C-130,
Sea Hawk, Mi-17 และเรือหลวงอ่างทองจากประเทศไทย เรือ LST จากสาธารณรัฐประชาชนจีน อากาศยาน Ka-27 และเรือพยาบาล จากสหพันธรัฐรัสเซีย อากาศยาน CH-47 และเรือ LST จากญี่ปุ่น อากาศยาน
Super Puma จากสาธารณรัฐสิงคโปร์ และอากาศยาน C-295 จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกร่วมฯ ในครั้งนี้ กระทรวงกลาโหม กองทัพไทย และ
๓ เหล่าทัพ จะได้ทดสอบการปฏิบัติงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนในด้านการฝึกปฏิบัติการร่วมกันของหน่วยงานด้านการแพทย์ทหารและด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
พัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานและบุคลากรต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย และในภูมิภาค ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศไทย ในระดับภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป
ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลการฝึกฯ ได้ทาง
https://www.facebook.com/AM-HEx-308415916174657/?ref=ts&fref=ts
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น