กองพลทหารราบที่ 9
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเวียดนาม ประกาศต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของ ฝรั่งเศสจนสำเร็จ ทำให้ เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เมื่อเวียดนามเหนือโดยการนำของ โฮจิมินห์ พยายามที่จะรวมเวียดนามทั้ง 2 เข้าด้วยกัน ทำให้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ส่งกำลังทหารของตนพร้อมทั้ง กำลังทหารของพันธมิตร อีก 6 ประเทศเข้าไปช่วย คือ
– ออสเตรเลีย,
– นิวซีแลนด์,
– สเปน,
– ฟิลิปปินส์,
– เกาหลีใต้ และ
– ประเทศไทย
สงคราม เวียดนาม จึงได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้ลงมติ อนุมัติหลักการให้ความ ช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น เรียกว่า “กรมทหารอาสาสมัคร” (กรม อสส.) มีภารกิจในการรบเป็นหลัก และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเป็นรอง ถือว่าเป็นกองกำลังทหารไทยหน่วยแรก ที่ปฏิบัติการรบในเวียดนาม ได้สมญานามว่า “จงอางศึก” หลังจากที่ กรมทหาร อาสาสมัคร เดินทางไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นเวลา ๑ ปี กองทัพบกได้ มอบให้คณะกรรมการพิจารณา เตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยน กรมทหารอาสาสมัคร และเพิ่มเป็น ๑ กองพลทหารอาสาสมัคร
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ จึง มีคำสั่งจัดตั้ง “กองพลทหารอาสาสมัคร ” บรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบ ในสาธารณรัฐเวียดนาม มีสมญานามเป็น ที่รู้จักกัน ในนามว่า “กองพลเสือดำ”
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ กองทัพบกได้ออกคำสั่งตั้งกองพลใหม่ขึ้น บริเวณ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยแปรสภาพ กองพลทหารอาสาสมัคร ” กองพลเสือดำ” เป็นกองพลใหม่ ขนานนามว่า “กองพลที่ ๙” เหตุผลว่าเป็นครบรอบปี ๒๔ แห่งวันรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ ๙ และเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ กองทัพบกได้ขนานนาม ค่ายที่ตั้ง กองพลที่ ๙ ว่า “ค่ายกาญจนบุรี”
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ กองทัพบกได้ออกคำสั่ง ให้เปลี่ยนนามจากหน่วยเดิม กองพลที่ ๙ เป็น กองพลทหารราบที่ ๙ เป็นกองพลเดียว ในกองทัพบกที่มีหน่วยขึ้นตรงอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนเนื้อที่ประมาณ ๖๖,๗๕๒ ไร่ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๓ กองทัพบกได้มีประกาศ ขอพระราชทานเปลี่ยนนามค่ายใหม่จากเดิม ค่ายกาญจนบุรี เป็น “ค่ายสุรสีห์” อันเนื่องมาจากสถานที่ตั้ง กองพลทหารราบที่ ๙ เดิมเป็นสมรภูมิสงคราม ทุ่งลาดหญ้าใน สงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ กองทัพไทย โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ ( เจ้าพระยาสุรสีห์ ) เป็นแม่ทัพ ได้มีชัยชนะแก่ข้าศึก ได้อย่างสมบูรณ์ โดยทำการรบแตกหัก ณ พื้นที่ตั้งค่ายสุรสีห์แห่งนี้
ณ กองพลทหารราบที ๙ ค่ายสุรสีห์ แห่งนี้ มีหนึ่งที่น่าสนใจ
เสาประวัติศาสตร์ พล.ร.9
“เสาเกียรติภูมิ พล.ร.๙” (ซึ่งเป็นเพียงชื่อที่ใช้เรียกกันเฉพาะใน บก.พล.ร.๙ ยังไม่ได้มีการตั้งป้ายชื่ออย่างเป็นทางการ)เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้รับรู้เกียรติประวัติ, สถานที่ในอดีตที่ กองพลทหารราบที่ ๙ หรือตัวแทนของเราได้ไปเหยียบ และยังสร้างชื่อเสียงกลับมาสู่หน่วยเป็นอันมากอีกด้วย ซึ่งรูปร่างหน้าตาของเสาเกียรติภูมิฯ ก็จะมีรูปร่างตามรูปภาพที่เห็น
เสาเกียรติภูมิ พล.ร.๙ นี้เป็นเสาไม้ธรรมชาติ (ต้นตะเคียน) ขนาดมากกว่า ๑ คนโอบนิดหน่อย สูงประมาณ ๑๑ เมตร แต่เวลาตั้งเราฝังไว้ในดินความลึกประมาณ ๒ เมตร เพราะฉะนั้น เสานี้จะมีความสูงประมาณ ๙ เมตร ตัวเสาทาด้วยสีน้ำตาลเข้ม (น่าจะเป็นสีเคลือบรักษาเนื้อไม้) มีส่วนประกอบ คือ ด้านบนสุดของเสา มีหมวกเหล็ก (จำลอง) สีพรางคลุมด้วยตาข่ายพร้อมยางรัดขอบหมวกและสายรัดคางพร้อมทั้ง ป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในป้ายจะบอก ปี พ.ศ. หรือ ค.ศ., สถานที่, ระยะทาง ชี้ไปทิศทางที่ กองพลทหารราบที่ ๙ เคยไปปรากฏกาย ณ สถานที่หรือประเทศนั้น ๆ ตั้งอยู่ตามหลักภูมิศาสตร์
เสาต้นนี้เป็นการสร้างตามดำริของผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๙ ท่านปัจจุบัน ด้วยแนวความคิดว่า อยากให้แขก หรือผู้ที่พบเห็นประติมากรรม โดดเด่นชิ้นนี้ ซึ่งมีนัยยะ และความสำคัญเมื่อหยุดดูแล้วก็พอจะได้ทราบประวัติของกองพลทหารราบที่ ๙ พอสังเขปไปด้วยในตัว
ความหมายเสาเกียรติยศกองพลทหารราบที่ ๙
เสาเกียรติยศกองพลทหารราบที่ ๙ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย.๒๕๔๙ ในสมัย พล.อ.อดุล อุบล ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๙ โดยต้องการให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในความภาคภูมิใจ และรักในศักดิ์ศรีความเป็นทหารอาชีพของกำลังพลและของหน่วย ตลอดจนเกียรติยศชื่อเสียง ในการปฏิบัติงานทางทหารที่บรรพบุรุษของหน่วยได้สะสมกันมาตั้งแต่อดีต
สถานที่ตั้งเสาอยู่ด้านขวามือของกองบัญชาการกองพล ซึ่งถือว่าพวกเขา(บรรพบุรุษของหน่วย) คือกำลังพลของกองพลทหารราบที่ ๙ เช่นเดียวกันพวกเราพวกเขาเป็นกำลังพลหัวแถวที่เข้ามาอยู่ในกองพลก่อนพวกเรา ได้เข้ามาทำงานรับใช้ประเทศชาติและกองพล ถึงแม้พวกเขาจะได้จากกองพลไปแล้ว บางคนก็ได้สละแม้เลือดเนื้อและชีวิตให้แก่หน่วยนี้แต่พวกเขายังคงเป็นหัวแถวของพวกเรา กองพลทหารราบที่ ๙จะนึกถึงพวกเขาตลอดไป
หมวกเหล็ก M1 ที่วางอยู่บนยอดเสา แสดงถึงการไว้อาลัยแด่ความกล้าหาญและความเสียสละของเขาเหล่านั้นซึ่งก็คือ บรรพบุรุษของพวกเราที่สูญเสียในสมรภูมิต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศป้ายเล็กๆ บนเสา บ่งบอกชื่อของดินแดน และห้วงเวลาที่พวกเขาเหล่านั้น ไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติโดยชี้ตรงไปยังทิศทางของสถานที่เหล่านั้นถึงแม้มันจะอยู่คนละซีกโลกก็ตาม
เสาต้นนี้ทำจากไม้ตะเคียนทองที่หามาจากในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้นไม้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี ต้นเสาไม่ได้ถูกตกแต่งหรือดัดแปลง เพียงแต่ทำความสะอาดและทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ไว้ให้คงสภาพเดิมตลอดไปเท่านั้น เพราะผมต้องการแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นของแท้ไม่มีการดัดแปลง เป็นความจริงที่ไม่ได้มีการเสริมแต่ง และไม่ต้องการการเสริมแต่งไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปธรรมชาติของทหารก็เป็นเช่นนั้น
ผมตั้งใจให้เสาต้นนี้ปักอยู่บนพื้นดินไม่ต้องการมีฐานอะไรใหญ่โต เพราะผมต้องการให้กำลังพลนึกถึงความเรียบง่าย ความต้องการความเป็นสมถะของชีวิตในการเป็นทหาร และถ้าคิดให้ลึกซึ้งแล้วเสาต้นนี้เปรียบเป็น Landmark ของจุดสุดท้ายของชีวิต เกิดมาแต่ดิน อยู่บนดินและกลับสู่ดิน
อดุล อุบล
พลเอก,ทหารราบ
๗ พ.ย.๕๔
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น