“ช่องเขาขาด”เป็นการเจาะช่องเขาเพื่อสร้างทางรถไฟสำหรับไปพม่าเนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาจึงต้องเจาะช่องเขา สำหรับตรงนี้เจาะช่องเขาสองช่องตั้งแต่เจ็ดสิบกว่าเมตรถึงสองร้อยกว่าเมตร ส่วนความลึกตั้งแต่แปดเมตรจนถึงยี่สิบห้าเมตร
การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นที่ตอนใต้ของพม่าช่วงเดือนตุลาคม 2485ปลายฝนต้นหนาว ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศไทย เพื่อไปบรรจบกันที่แก่งคอยท่าในเขตไทย ซึ่งกินเวลานานนับขวบปี ผ่านช่วงที่ร้อนที่สุด ผ่านฤดูฝนที่แสนทรมาน แรงงานทั้งหลายต้องอดทนกับการหิวโหย การอ่อนล้า และการเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บสารพัด
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจสร้างทางรถไฟที่มีความยาวประมาณ 415 กิโลเมตร จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านผืนป่าและภูเขาสูงชันไปถึง อ.ตันบูชายัต ในประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้กองทัพญี่ปุ่นจึงรวบรวมเอาแรงงานหลายเชื้อชาติ ทั้งแรงงานชาวเอเชียราว 2.5 แสนคน และเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ฮอลแลนด์ และอเมริกา มากกว่า 6 หมื่นคน มาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้น
มีบันทึกหลายแห่งระบุถึงความโหดร้ายทารุณ ที่บรรดาเชลยศึกและแรงงานได้รับ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะการขุดเจาะช่องเขาเพื่อวางรางรถไฟ กองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกชาวออสซี่ 400 คน ประเดิมขุดเจาะ และเมื่อเห็นว่าการก่อสร้างทางเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงเพิ่มเชลยศึกเข้าไปอีก ส่วนใหญ่เป็นทหารออสซี่และจากสหราชอาณาจัก “เชลยศึก 6 หมื่นคน 20 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต แรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคน ต้องสังเวยชีวิตระหว่างการก่อสร้างรถไฟแห่งนี้ จนมีผู้เปรียบเปรยว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเหล่าเชลยศึก”
ปัจจุบันช่องเขาขาดได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ อยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จากทางหลวงหมายเลข 323 สายกาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ ไปทางทิศตะวันตกของเมืองกาญจน์ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 64-65ต้องต้อนรับทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 8 หมื่นคนต่อปี ที่เดินทางมาร่วมรำลึกและไว้อาลัยต่อเชลยศึก ตลอดจนแรงงานชาวเอเชียที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้วันนี้ที่ช่องเขาขาดจะปราศจากคบไฟ แรงงานเชลยศึก และการทรกรรม แต่หินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น ก็มีเรื่องราวให้เล่าขานถึงเหตุการณ์เมื่อวันวาน วันที่เชลยศึกและแรงงานนับหมื่นนับแสนคนเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่ โดยไม่มีวันได้หวนกลับคืนสู่มาตุภูมิไปชั่วนิรันดร์
ประวัติศาสตร์มีชีวิต
ช่องเขาขาดเป็นทางแคบๆ ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน ทางรถไฟ และสะพาน ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด เพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่ต้องทุกข์ทรมานจากการก่อสร้างเส้นทางสายทาสนี้ โดย เจ จี ทอม มอรีส ชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึกที่อยู่ร่วมชะตากรรมนรกบนดินครั้งนั้น เป็นคนริเริ่มพัฒนาและบำรุงรักษาไว้ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ถึงความโหดร้ายที่เชลยศึกได้รับระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะอายุได้ 17 ปี ทอมสมัครเข้าเป็นทหารยศสิบโท กองพลน้อยที่ 22 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2484 เขาถูกจับเป็นเชลยศึกระหว่างทำสงครามที่สิงคโปร์ เดือนกุมภาพันธ์ 2485 หลังจากนั้นถูกนำตัวมากักขังในฐานะเชลยศึกนานถึง 3 ปี ในกองกำลังเอฟอร์ซ (A-Force) ระหว่างถูกคุมขังทอมถูกบังคับให้ทำงานก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่าสายประวัติศาสตร์นี้ และถูกนำตัวไปขังไว้ตามค่ายทหารต่างๆ ถึง 10 ค่าย จนเป็นต้นเหตุให้เขาติดเชื้อไข้มาลาเรียและโรคบิด ต่อมาเขาได้ทำหน้าที่ทหารเสนารักษ์ คอยช่วยเหลือเชลยศึกคนอื่นๆ ในค่ายพยาบาลบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 55
หลังพ้นจากนรกขุมสุดท้าย ทอมได้กลับบ้านที่ออสเตรเลียและอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 40 ปี เขาจึงตกลงใจกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อหาที่ตั้งของจุด “ช่องเขาขาด” (Hell Fire Pass) เมื่อปี 2527 และความพยายามอันมุ่งมั่นของเขาก็ประสบความสำเร็จ นอกจากจะพบที่ตั้งของช่องเขาขาดที่อยู่ใจกลางป่าทึบแล้ว ทอมยังมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบูรณะพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่ต้องนำเอาเลือดเนื้อและวิญญาณมาสังเวยให้แก่ทางรถไฟสายนี้
โดยทอมได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อของบประมาณบูรณะพัฒนาช่องเขาขาดให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ในลักษณะกองทุน โดยเงินก้อนแรกถูกส่งมาเมื่อปี 2530 ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ต่อมาปี 2537 ได้รับเงินสนับสนุนอีกครั้ง จึงนำไปใช้สร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด เพื่อจัดแสดงมินิเธียเตอร์และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 70 ปีก่อน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2542
พิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด กาญจนบุรี
ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ ส่วนที่จัดเป็นนิทรรศการภายใน
ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่เป็นทางเดินเพิ่งนำทุกท่านไปยังสถานที่จริง โดยแบ่งเป็น เส้นทาง ขึ้นเขาเพื่อชม เส้นทางช่องเขาขาดมุมบน และเส้นทางลงเขา เพื่องลงไปชมบรรยากาศ ด้านล่างที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ร่มงานที่เงียบสงบ
เรื่องราวในอดีตถูกรวบรวมและบอกเล่าผ่านนิทรรศการภายใน“พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด” ที่ออกแบบและสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วน พิพิธภัณฑ์ฯได้รวบรวมภาพถ่าย ข้อมูล และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกิดในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ นอกจากตัวอักษรและภาพประกอบที่อธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงแล้ว จุดเด่นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ฯก็คือ ห้องมินิเธียร์เตอร์ ที่ฉายภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ ซึ่งถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความทุรกันดารและความโหดร้ายของการตกเป็นเชลยศึกสงคราม
หลังจากออกจากห้องแสดง นิทรรศการแล้ว จะเดินผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวลงไปสู่ช่องเขาที่มีขนาดความกว้างเพียง 17 เมตร ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยของทางรถไฟ รวมถึงร่องรอยของการระเบิดหินเพื่อเปิดเป็นช่องให้รถไฟผ่านได้ ใครจะคาดคิดได้เลยว่าระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรที่ตัดผ่านภูเขาลูกนี้จะต้องสังเวยไปด้วยชีวิตนับแสน นอกจากจุดสำคัญในบริเวณที่เรียกว่าช่องเขาขาดแล้ว เลยออกไปอีกหน่อยยังมี อนุสรณ์สถาน และ จุดพักชมวิวที่สวยงาม
จากผลการโหวตของนักท่องเที่ยว “นับล้านคน” จากทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้คะแนนมากเป็นอันดับ 4 ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะด้วยเพราะพิพิธภัณฑ์นี้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ภายในบริเวณมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปยังช่องเขาขาด ทำให้ตรึงใจนักท่องเที่ยวได้มหาศาล
ณ ช่องเขาขาด ร่องรอยประวัติศาสตร์ และธรรมชาติที่แสนสงบ
ธรรมชาติที่ปกคลุมเต็มสองข้างของช่องเขา ทำให้พื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งนี้ร่มรื่น และทำให้คนได้เดินชมประวัติศาสตร์แบบแอบอิงธรรมชาติ อย่างเย็นสบาย มีเรื่องราว ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยที่มีการสร้างทางรถไฟ แสดงเป็นหลักฐานให้คนได้ย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ยังไม่เคยมา เราแนะนำว่า ครั้งหนึ่งท่านต้องมาให้ได้
ในทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปี จะมีชาวต่างชาติ และคนไทยมากหน้าหลายตาเดินทางมาร่วมพิธีวันรำลึกถึงเชลยศึก ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกว่าวัน ANSAC DAY ซึ่งอาจเป็นบรรดาญาติพี่น้อง ครอบครัว และรวมถึงอดีตเชลยศึกชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายๆ ชาติ ที่รอดชีวิต ดอกไม้ แสงเทียน และพวงมาลา เป็นสิ่งแสดงความเสียใจ และแสดงความรำลึกนึกถึงการจากไปของผู้เป็นที่รัก ในเหตุการณ์ที่ตราตรึงของช่องเขาขาด ในครานั้น…
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น